รองแง็ง
อนุรักษ์มรดกใต้       ชมรมอนุรักษ์มรดกใต้     มรดกใต้ทีวี

    การแสดงอีกแบบหนึ่งของชาวไทยทั้งมุสลิมและพุทธแห่งภาคใต้ แม้ว่าจะได้รับแบบอย่างมาจากฝ่ายชวา มลายู ก็ตาม
นับได้ว่าเป็นศิลปการเต้นคำแบบพื้นเมืองของชาวไทยมุสลิมที่ได้รับความนิยมมาก แต่ก่อนนั้นไม่ยังแพร่หลายเข้ามาประเทศไทยมากนัก คงมีอยู่บ้างในท้องถิ่นซึ่งใกล้เคียงกับประเทศมาเลเซีย เพราะถ้าเต้นตามแบบฉบับแล้วจะไม่มีการถูกเนื้อต้องตัวกันระหว่างหญิงชาย แต่ปรากฏว่าชาวบ้านนำไปเต้นกันในท้องถิ่นของตน ได้มีการจูบเพื่อแลกเงินกันด้วย ดังพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่อง "ระยะทางเที่ยวชวากว่าสองเดือน" ทรงเรียกว่า "รองเกง" ดังนี้ "ออกไปเดินข้างนอกต่อไปดูเขาเล่น "รองเกง" กันเป็นหมู่ แรกสองวงที่หลังแยกออกเป็น 3 วง มีผู้หญิงวงละ 3 คน มีพิณพาทย์สำรับหนึ่ง ระนาดราง 1 ซอคัน 1 ฆ้องใหญ่ใบ 1 บ้าง 2 ใบบ้าง กลองรูปร่างเหมือนกลองชนะแต่อ้วนกว่าสักหน่อย มีสองหน้าเล็ก ๆ อัน 1 ผู้หญิงร้องรับพิณพาทย์ ผู้ชายเข้ารำเป็นคู่ แต่ผลัดเปลี่ยนกัน ดูท่าทางเป็นหนีไล่กันอย่างไรอยู่ ผู้หญิงไม่ใคร่จะรำเป็นแต่ร้องมากกว่า แต่ผู้ชายรำคล้าย ๆ ท่าค้างคาวกินผักบุ้ง ที่ตลกรำมีตะเกียงปักอยู่กลางวงดวงหนึ่ง รำเวียนไปรอบๆ ตะเกียง พอรัวกลองผู้ชายตรงเข้าจูบผู้หญิง ๆ ก็นิ่งเฉย ไม่เห็นบิดเบือนปัดป้องอันใด เห็นท่าทางมันหยาบอย่างไรอยู่ นึกว่าวงนั้นจะถูกเป็นคนไม่ดี ย้ายไปดูวงอื่น ก็เป็นเช่นกันอีก มาภายหลังจึงทราบว่าเป็นธรรมเนียมเขาเล่นกันเช่นนั้น การที่จะรำช้ารำเร็วนั้น ดูอยู่ในกำมือของผู้ตีกลอง ถ้ากลองไม่พรึด เมื่อไรก็ยังจูบไม่ได้ ถ้ามันตีไปยันรุ่งก็จะต้องรำไปยันรุ่ง เดี๋ยวนี้เจ้ากลองจะพรึดบ่อย ๆ มิใช่เพราะเห็นสนุก ข้างฝ่ายนางผู้หญิงที่ยอมให้จูบนั้น ก็มิใช่จะสมัครให้จูบโดยเต็มใจ ข้างฝ่ายชายที่เป็นผู้จูบนั้นใช่จะจูบด้วยความชื่นอกชื่นใจอย่างเดียว ไปกดอยู่นาน ๆ ถึงมินิดหนึ่ง 2 มินิด รวบรวมใจความเป็นเรื่องอัฐอย่างเดียวพอใครจูบแล้วต้องคว้าให้ 2 อัฐ เจ้าพิณพาทย์กับนางหญิงก็มีหุ้นส่วนกัน ถ้ามีคนจูบได้มากเท่าใดและเร็วเท่าใดยิ่งดี ข้างฝ่ายชายไหน ๆ เสียอัฐจูบให้สะใจ"
    มีผู้สันนิษฐานว่า การเต้นรองเง็งนั้นน่าจะเป็นแบบอย่างของชาวตะวันตก โดยเฉพาะชาวโปรตุเกสหรือชาวดัทส์ (ฮอลันดา)
ซึ่งเคยมีอิทธิพลเหนือประเทศอินโดนีเซีย ด้วยประเทศดังกล่าวนั้นมีประเพณีการเต้นรำสำหรับวันรื่นเริงในเทศกาลต่าง ๆ อยู่แล้ว เมื่อชาวพื้นเมืองได้พบเห็นเข้าก็เกิดความพอใจ จึงมีการฝึกหัดการเต้นรำในแบบรองเกงหรือรองเง็งขึ้น ในที่สุดก็แพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็วจนเข้ามาสู่ประเทศไทย แต่ในประเทศไทยนั้น เท่าที่ไต่ถามผู้ทราบเรื่องราวเป็นอย่างดีได้อธิบายว่า การเต้นรองเง็งนั้นมาด้วยกันกับการแสดงมะโย่ง คือ เมื่อหยุดพักเหนื่อยราว 10-15 นาที ก็จะสลับการแสดงด้วยการเต้นรองเง็งนี้ โดยผู้แสดงมะโย่งนั้นเองออกมาจับคู่เต้นรำ แล้วผู้ดูก็พลอยสนุกสนานไปด้วย จึงมีการเชิญชวนเข้าร่วมวง แต่ในประเทศไทยไม่มีการจูบดังที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ที่อัญเชิญมาในตอนต้น
    การเต้นรองเง็งไม่มีพิธีการหรือข้อจำกัดใด ๆ เพราะอาจแต่งกายการอย่างชาวบ้านเข้าร่วมวงได้ แต่ผู้ชายมักนิยมสวมหมวกแขก (หมวกหนีบ) สีดำหรือสวม"ชะตางัน" หรือสวมผ้าโพกแบบเดียวกับเจ้าบ่าวชาวมุสลิมเข้าพิธีแต่งงาน แต่ถ้าจะแต่งกายให้เหมาะยิ่งขึ้น ก็มักนุ่งกางเกงจีนขากว้าง หุ้มโสร่งทับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งมักทำด้วยผ้าซอแกะหรือโสร่งไหม สวมเสื้อคอกลมแขนยาวติดกระดุมตรงหน้าอก สำหรับสตรีจะสวมเสื้อแขนกระบอกเรียกว่า เสื้อบันดง เอวเข้ารูปปล่อยชายปิดตะโพก ผ่าอกตลอดและติดกระดุมทอง 5-7 เม็ด นุ่งผ้าถุงกรอมเท้า มีผ้าคลุมไหล่สีตัดกับเสื้อ
    สำหรับดนตรีที่ใช้ในการเต้นรองเง็งนั้น มีไวโอลินเป็นผู้นำเสียงเพลงและอาจมีกีตาร์ผสมด้วย เครื่องประกอบจังหวะได้แก่
กลองรำมะนา แต่ปัจจุบันใช้กลองทอกับฆ้องหรือจะเพิ่มเติมอีก และอาจใช้วงดนตรีสากล ดนตรีแจ๊ส ตลอดจนวงอังกะลุงก็ได้ เพลงต่าง ๆ ที่นิยมใช้ส่วนใหญ่ใช้กัน 7 เพลง ได้แก่ เพลงลาฆูดูวอ เพลงลานัง เพลงปูโจ๊ะปิซัง เพลงจินตาซายัง เพลงอาเนาะดีดี๊ เพลงมะอีนังชวา และเพลงมะอีนังลามา เพลงต้นกับเพลงท้าย เป็นเพลงยืนพื้น เพราะเป็นเพลงที่เหมาะกับการแสดงลวดลายในการเต้นรำโดยผู้ชำนาญ

จากหนังสือ การแสดงพื้นบ้านในประเทศไทย โดย เรณู โกศินานนท์


อนุรักษ์มรดกใต้ : moradokthai@hotmail.com : โทร.081-8544472

Power by www.Muanglung.com เมืองลุงดอทคอม