การสร้างโรงหนังตะลุง
อนุรักษ์มรดกใต้       ชมรมอนุรักษ์มรดกใต้     มรดกใต้ทีวี


    โรงหนังตะลุง ต้องยกเสา ๔ เสา (ใช้ไม้ค้ำเพิ่มจากเสาได้) ขนาดโรงประมาณ ๒.๓ X ๓ เมตร พื้นยกสูงเลยศีรษะผู้ใหญ่เล็กน้อย และให้ลาดต่ำไปข้างหน้านิดหน่อย หลังคาเป็นแบบเพิงหมาแหงน กั้นด้านข้างและด้านหลังอย่างหยาบๆ ด้านหลังทำช่องประตูพาดบันไดขึ้นโรง ด้านหน้าใช้ผ้าขาวบางขึงเป็นจอ จอกว้างและยาวประมาณ ๕ x ๑๐ ฟุต ในโรงมี ตะเกียงน้ำมันไขสัตว์หรือตะเกียงน้ำมันมะพร้าว หรือตะเกียงเจ้าพายุหรือดวงไฟแขวนไว้ใกล้จอสูงจากพื้นราว ๑ ฟุตเศษและห่างจากจอราว ๑ ศอก นอกจากนี้ยังมีต้นกล้วยวางไว้ข้างฝาทั้งสองข้างของโรง เพื่อไว้ปักพักรูปหนัง ประเภทรูปเบ็ดเตล็ด ส่วนบนเพดานโรงจะมีเชือกขึงไว้สำหรับแขวนรูปหนังประเภทรูปที่สำคัญซึ่งมีรูปพระ รูปนาง เป็นต้น สำหรับจอหนัง ทำด้วยผ้าขาว รูปสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ ๑.๘ x ๒.๓ เมตรทั้ง ๔ ด้านมอบริมด้วยผ้าสี เช่น แดง น้ำเงิน ขนาดกว้าง ๔-๕ นิ้ว มีห่วงผ้าเรียกว่า หูรามเย็บไว้เป็นระยะโดยรอบ หูรามแต่ละอันจะผูกเชือกยาวประมาณ ๒ ฟุต ๕ นิ้ว เรียกว่า หนวดราม สำหรับผูกขึงไปประมาณ ๑ ฟุตจะตีตะเข็บนัยว่าเป็นเส้นแบ่งแดนกับแดนมนุษย์ เวลาเชิดรูปมีเฉพาะรูปฤาษี เทวดา และรูปที่มีฤทธานุภาพเท่านั้นที่เชิดเลยเส้นนี้ได้

ความเชื่อในการสร้างโรงหนังตะลุง  
   ๑.ห้ามสร้างโรงแสดงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ว่ากันว่าหนังคณะใดแสดงหันหน้าโรงไปทางทิศตะวันตก จะไม่มีความเจริญ ชื่อเสียงจะตกต่ำ เหมือนดวงอาทิตย์ลับฟ้ามีแต่ความมืด
   ๒.ห้ามสร้างโรงแสดงใต้ต้นไม้ใหญ่ทุกต้น ตามลัทธิของพราหมณ์มีความเชื่อกันว่า เทวดาและเทพารักษ์อยู่อาศัย สร้างโรงหนังตะลุงแสดงใต้ต้นไม้ใหญ่เป็นการรบกวนเทพ
   ๓.ห้ามสร้างโรงหนังตะลุงคร่อมทางเดิน และทางน้ำไหล มีความเชื่อกันว่า ทางเดินก็ดี ทางสายน้ำไหลก็ดี เวลากลางคืนมีพวกผีเดิน จะเป็นการขัดขวางทางเดินของพวกผี
   ๔.งานพิธีมงคลสมรส จะแสดงกี่คืนก็ได้ แต่คืนทำพิธีมอบสาดเรียงหมอนห้ามแสดง (เรียกว่าหลวงบ่อ) หนังตะลุงคณะใดแสดงคืนนี้มีความเชื่อกันว่าอุบาทว์แก้ไม่หาย
   ๕.งานศพก็แสดงได้ วันที่ห้ามแสดงคือวันเผาศพ กล่าวคือ วันเผาศพวันไหน ค่ำคืนนั้นจะห้ามแสดงหนังตะลุง การเผาศพของชาาวใต้ สมมุติวันนี้เป็นวันเผา วันรุ่งขึ้นก็มีการพิธีดับธาตุ หนังตะลุงที่แสดงวันเผาศพก็จะถูกดับธาตุไปด้วยในวันรุ่งขึ้น หนังตะลุงคณะใดแสดงวันเผาศพจะไม่มีความเจริญหรืออาจจะต้องเลิกแสดงหนังตะลุงไปตลอดชีวิต
   ๖.ห้ามหนังตะลุงแสดงแก้บน วันขึ้นแรม ๘ ค่ำ ๑๔-๑๕ ค่ำ (วันพระ) หนังตะลุงคณะใดแสดงแก้บนวันที่กล่าวมานี้ มีความเชื่อกันว่าแก้บนไม่ขาด สิ่งศักดิ์สิทธิ์ถือศีล ไม่มารับเครืองสังเวย
   ๗.โรงหนังตะลุงที่ดีเหมาะสมกับการแสดง ต้องหันหน้าโรงไปทางทิศตะวันออกและทิศใต้ ก็ที่มีความเชื่อดังนี้ คงจะเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศด้วย กล่าวคือ ฤดูการแสดงหนังตะลุงก็คือเวลาว่างจากการประกอบอาชีพทำไร่ทำนา ไม่มีฝนตกทางภาคใต้ เมื่อไม่มีฝน ลมจะพัดมาทางทิศเหนือ และทิศตะวันตก เสียงที่ดังออกจากโรงหนังจะดังตามกระแสลมไปไกล ทำให้ผู้ฟังหน้าโรงฟังได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เวลาประชันกัน ๒ หรือ ๓ คณะ ถ้าโรงหนังตะลุงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก โรงที่ดีคือโรงทางทิศเหนือ จะได้เปรียบทางทิศใต้ เสียงทางโรงทิศเหนือลมจะช่วยพาไปรบกวนโรงทางทิศใต้ โดยที่เสียงโรงทางทิศใต้จะไม่ทวนกระแสลมไปรบกวนโรงทางทิศเหนือ
   ถ้าโรงหนังหันหน้าไปทางทิศเหนือหรือทิศใต้เวลาประชันกัน โรงที่อยู่ทางทิศตะวันตกจะดีกว่าโรงที่อยู่ทางทิศตะวันออก เพราะลมจะช่วยพาเสียงจากโรงที่อยู่ทางทิศตะวันตก รบกวนโรงที่อยู่ทางทิศตะวันออก เหมือนกับเสียงทางทิศเหนือรบกวนโรงทางทิศใต้
   นอกจากความเชื่อที่กล่าวมาแล้ว คณะหนังตะลุงในสมัยโบราณ ยังมีความเชื่อปลีกย่อยเกี่ยวกับศาสนา และทางโหรศาสตร์อีกมากมาย ความเชื่อและประเพณีการแสดงหนังตะลุง ถ้าเรามองให้ลึก ศึกษาให้ดี จะเห็นว่าเกี่ยวกับศีลธรรม สังคม ขีวิตประจำวัน ของมนุษย์เราทั้งสิ้น

จากหนังสือ ความรู้เรื่อง"หนังตะลุง" อนุสรณ์งานพระราชทางเพลิงศพ อาจารย์พ่วง บุษรารัตน์ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๑


อนุรักษ์มรดกใต้ : moradokthai@hotmail.com : โทร.081-8544472

Power by www.Muanglung.com เมืองลุงดอทคอม