ประวัติและผลงาน โนรายก ชูบัว
อนุรักษ์มรดกใต้       ชมรมอนุรักษ์มรดกใต้     มรดกใต้ทีวี

ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) พุทธศักราช ๒๕๓๐

    นายยก ชูบัว หรือ โนรายก เป็นโนราที่มีชื่อเสียง เป็นบุตรนายเลิศ นางเอี่ยม ชูบัว เกิดเมื่อ พ .ศ.๒๔๖๕ ที่บ้านทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๖ จากโรงเรียนวัดทะเลน้อย อุปสมบทหนึ่งพรรษามีฉายาว่า ธมทินโน สอบได้นักธรรมตรี จากสนามสอบ วัดสุวรรณวิชัย อำเภอควนขนุน เมื่อลาสิกขาบทได้รับ คัดเลือกให้รับราชการตำรวจอยู่ ๒ ปี ณ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองพัทลุงและระยะดัง
กล่าวได้ แต่งงานกับ นางสาวกล่ำ พงค์ชนะ ไม่มีบุตร พอออกจากราชการได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ ที่ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาจนถึงปัจจุบัน
    โนรายก หัดรำโนรามาตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ โดย หัดกับโนราเลื่อน พงค์ชนะ บ้านทะเลน้อย และอยู่ ประจำคณะโนราเลื่อนมาจนอายุได้ ๑๖ ปี จึงแยกมาตั้งคณะขึ้นเอง ชื่อคณะ "โนรา ยกทะเลน้อย" ในระยะที่แยกโรงใหม่ ๆ เมื่อถึงหน้าแล้งโนรายกจะนำคณะไปแสดง อยู่ประจำในเขตจังหวัดภูเก็ตและพังงา ครั้นถึงหน้าฝนก็นำคณะกลับพัทลุง ช่วงที่ว่างจากการ แสดงในระยะดังกล่าว โนรายกได้ไปฝึกรำ ทำบทกับโนราวัน (จังหวัดนครศรีธรรมราช) ซึ่งเป็น โนราที่มีชื่อเสียงมากในการรำทำบท ในสมัยนั้น ฝึกอยู่ประมาณ ๖ เดือนก็ชำนาญ กลับมาทำพิธีผูกผ้าแล้วเข้าอุปสมบทและรับราชการตำรวจ ตามลำดับดังกล่าวแล้วออกจากตำรวจก็มารำโราหาเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียวจนทุกวันนี้
    ด้วยโนรายกมีความสามารถทั้งการรำ การร้องกลอนและตลก จึงมีผู้เรียกหา ไปแสดงมิได้ขาด ได้ประชันกับโนราดี ๆ ในภาคใต้เกือบทุกคณะ มีโนราเติม โนราเฟื่อง โนราแป้น จังหวัดตรัง, โนราแปลก โนราพิณพัน โนรา ลอย โนราแห้ง โนราหนูเวียง จังหวัดพัทลุง, โนรา เปลื้อง โนราลิ้ม สนามชัย โนราโกลน ท่าหิน จังหวัดสงขลา, โนราปั่น, โนราช่วง, โนราเทพ, โนราศรีเวียง จังหวัดนครศรีธรรมราช และโนราฉลอง จังหวัด กระบี่ เป็นต้น ได้แสดงทั่วทั้ง ๑๔ จังหวัดภาคใต้ และ บางจังหวัดในภาคกลาง การแสดงครั้งสำคัญที่นับเป็นเกียรติประวัติได้แก่ รำให้ทูตวัฒนธรรมของ ๒๕ ประเทศชมที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ รำให้ราชเลขาธิการชม รำออกรายการโทรทัศน์ ซึ่ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช จัด ขึ้นเป็นพิเศษ รำถวายสมเด็จพระราชชนนีในพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ เกาะอาดัง จังหวัดสตูล ครั้งนั้นได้รับพระราชทานเหรียญที่ระลึกด้วย ได้รับเชิญจากกรมศิลปากรให้ไปรำที่โรงละครแห่งชาติ พร้อมกับขุนอุปถัมภ์นรากร เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ ในครั้งนี้ได้รับเกียรติบัตรจากกรมศิลปากร และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพล ทิฆัมพร ได้ประทานเทริดให้หนึ่งยอดและในปี พุทธ ศักราช ๒๕๒๖ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวโรฒ ได้เชิญพร้อมด้วยโนราอีก ๗ คณะ ไปรำโนรารายการ "มหกรรมโนรา" ที่โรงละครแห่งชาติและที่ศูนย์สังคีตฯ ธนาคารกรุงเทพฯ เป็นต้น
    โนรายก ยังได้รับเกียรติให้เป็นครูสอนโนราแก่นักเรียนนักศึกษาและผู้สนใจในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ได้แก่ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โรงเรียนธัญเจริญ และโรงเรียนเกษตรชลธี อำเภอระโนด สำหรับที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั้น สามารถตั้งคณะโนราของมหาวิทยาลัยขึ้นได้สำเร็จ ได้รับ การเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เคยได้รับเชิญไปแสดงที่มหาวิทยาลัยปีนัง โรงละครแห่งชาติ สังคีตศาลา ศูนย์สังคีตศิลป์ สถานีโทรทัศน์ช่อง ๕ โรงแรมเอเชียพัทยา เมื่อคราวประชุมอธิการบดี มหาวิทยาลัยทั่วโลก เป็นต้น
    นอกจากรำโนรา และเป็นครูสอนโนราแล้ว โนรายกยังเคยรับราชการเป็นประโยชน์แก่ท้องถิ่นหลายหน้าที่ด้วย กันนอกจากเคยเป็นตำรวจดังกล่าวแล้วยังเคย เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยกำนัน นายทะเบียนประจำตำบล และเป็นผู้สื่อข่าวประจำตำบล โดยผ่านการอบรม ณ สวางคนิวาส จังหวัดสมุทรปราการ จากการที่โนรายกได้ใช้ชีวิตการเป็นศิลปินมากว่า ๕๐ ปี (จนถึง พ.ศ. ๒๕๓๑) ตลอดระยะเวลาดังกล่าว ได้พยายามรักษาแบบแผนของโนราแบบดั้งเดิมเอาไว้อย่างมั่นคง พยายามแทรกความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องโนราให้แก่ผู้ชม ได้สอนลูกศิษย์ลูกหาเอาไว้มากมาย และ ได้ช่วยเหลือสังคมดังกล่าวมาแล้ว ในปี ๒๕๒๘ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงได้ มีมติยกย่องให้ท่านเป็นศิลปินพื้นบ้านดีเด่นสาขามโนราห์ ซึ่งนับเป็นเกียรติประวัติอันสูงส่งแก่ชีวิตและวงศ์ตระกูลเป็นอย่างยิ่ง พ.ต .อ.ขุนภัณฑารักษ์ราชเดช เคยกล่าวไว้กับคนทั่วไปว่า "ลูกศิษย์ของท่านที่เป็นโนรามีคนเดียว คือ โนรายก ทะเลน้อย และท่านได้บอกกับโนรายกว่า " ให้รำโนราอยู่อย่างนี้แหละ อนาคตคนอื่นรำไม่เป็นมึงจะรำเป็นคนเดียว" และอีกประโยคหนึ่งที่โนรายกถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดตลอดมาก็คือ" โนราต้องใส่เครื่อง เทริด ฯลฯ ครบชุด จึงจะเป็นโนรา"
    ภายหลังแม้โนราคณะอื่นจะแต่งตัวผิดแปลกออกไปอย่างไร เพราะเพียงเพื่อสนองศรัทธาประชาชน หรือ เหตุผลใดก็ตาม แต่โนรายกยังยึดมั่นในรูปแบบดั้งเดิมที่ถูกต้องโดยไม่เปลี่ยนแปลง ลูกศิษย์ของโนรายกที่ตั้งเป็นคณะโนราปัจจุบันมี ๒ คณะ คือ "โนราภักดี" อยู่ที่ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง โนราห้วน คงดำ หัวหน้าคณะโนรามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สำหรับคณะโนราของ ม.อ.ที่เป็นอึกแผ่นอยู่ขณะนี้ โนรายกไปฝึกสอนให้ตั้งแต่ปี พ.ศ .๒๕๑๘-๒๑ ทุกครั้งที่คณะโนราของ ม.อ.รับงานใหญ่จะต้องรับโนรายกไปด้วยเสมอ
    เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ อาจารย์ใหญ่ชอบ บุญช่วย โรงเรียนบ้านระโนดธัญเจริญ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ได้สนับสนุนส่งเสริมให้ นักเรียนประมาณ ๒๐ คน เรียนโนราเป็นพิเศษโดยใช้ เวลาเลิกเรียน และวันเสาร์ อาทิตย์ ผู้ฝึกสอนคือ โนรายก ชูบัว ใช้เวลาสอนอยู่ ๑๒๐ ชั่วโมง เด็กทั้ง ๒๐ คน ก็สามารถแสดงโนราได้ โนรายก กล่าวว่าถ้าจะให้สมบูรณ์แบบจริง ๆ ต้องใช้ เวลาเพิ่มอีก ๑๒๐ ชั่วโมง เด็กจะมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะรำโนราได้เป็นอย่างดี สามารถ ร้องเอง รำเองได้ และเป็นโนราแท้ ๆ ทุกครั้งที่โนรายกแสดงโนราจะพยายามสอดแทรกหลักการทางศาสนา เพื่อให้ทุกคนเป็นคนดี มีศีลธรรม รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ด้วยปรารถนาจะ เห็นสังคมไทยสันติสุขเป็นประการสำคัญ ปัจจุบันโนรายก ปรารถนาจะเห็นหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหันมา สนับสนุนการฝึกโนราอย่างจริงจัง เป็นระบบโดยใช้ คนที่รู้เรื่องของโนราจริง ๆ มาสอน เริ่ม ตั้งแต่การถ่ายทอดแก่ครูที่จะไปฝึก ต่อให้รู้และเข้าใจอย่างถูกต้องชัดเจน ที่สุดและมีการสนับสนุนเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง เอกลักษณ์ทางศิลปะการแสดงของภาคใต้จะได้ไม่สูญหาย
    โนรายก แม้จะมีวันล่วงไป ๖๕ ปีแล้วก็ตาม แต่สุขภาพของท่านยัง แข็งแรง มีพลังจิตที่เข้มแข็ง พร้อมจะเผยแพร่วิชาความรู้ศิลปะารแสดงโนราให้แก่ผู้สนใจอย่างไม่ปิดปังตลอดเวลา บ้านพักของโนรายก แม้จะดูไม่ใหญ่โต แต่ภายในบ้าน โล่ ขันน้ำพานรอง ขันเงินที่ได้รับเป็น รางวัลต่าง ๆ มากมายที่วางเด่นเป็นสง่าอยู่ ในตู้ถือเป็นเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่ของวงศ์ ตระกูล "ชูบัว" แต่ดูเหมือนศิลปินผู้ เป็นเจ้าของบ้าน เจ้าของรางวัลไม่เคยคุยโอ้ อวดให้ใครฟังเลย มีแต่ความสงบเสงี่ยม เยือกเย็น ถ่อมตนตลอดเวลา
    ผ้าม่านสีสวยสด ที่ พ.ต.อ.ขุนภันฑารักษ์ราชเดช มอบให้ไว้เมื่อ ๔๐ ปีก่อน ยังถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีเยี่ยม ขันเงิน "ให้โนรายก ทะเลน้อย ในคราวมาเยี่ยมข้าราชการและประชา ชนชาวปักษ์ใต้" จอมพล ป.เป็นผู้ ให้ขันเงิน "ในการฉลองพระไตรปิฎกวัดหาดใหญ่ในจังหวัดสงขลา" จากพระเจ้าบรมวงศ์ เธอพระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ ๒๔๙๓ ฯลฯ
โล่ หลาย โล่ หนึ่งในจำนวนนั้น คือ โล่ศิลปินพื้นบ้านดีเด่นสาขามโนราห์ ที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สวช. เป็นผู้ประกาศโดยได้รับพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพฯ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๒๙ ฯลฯ

    คุณสมบัติพิเศษของโนรายก จากปากคำของผู้ที่เกี่ยวข้อง
     ๑. นายชอบ บุญช่วย ผู้อำนวยการโรงเรียนวิเชียรชม อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ผู้ริ เริ่มให้เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านระโนดธัญเจริญ ฝึกหัดโนราขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๓๐ สมัยเป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ที่นั่น ได้กล่าวถึงคุณ ลักษณะพิเศษของโนรายกไว้ดังนี้
     ก.เป็นบุคคลที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง ท่านเคยได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย แต่ท่านไม่เคยแสดงออกว่าเป็นคนเก่ง มีความอดทนอย่างยิ่ง แม้การสอนเด็กเล็กจะยากลำบากเพียงใด ท่าน ก็ไม่เคยปริปากบ่น ไม่เคยด่าว่า มีครูบางคนบอกจะหาไม้เรียวให้ ท่านก็บอกว่า "ฝึกกับคนไม่ต้องใช้ไม้เรียว ใช้ปากนี่แหละ " ผมยกเป็นตัวอย่างให้ ครูที่โรงเรียนบ้านระโนดดูเป็นตัวอย่าง บอกโนรายกไม่เคยเรียนวิชาครู ไม่ได้เรียน จิตวิทยา จบแค่ชั้นประถมปีที่ ๖ แต่ท่าน สามารถสอนเด็กนักเรียนคราวละ ๒๐ คน ใช้เวลา เพียง ๑๒๐ ชั่วโมง มีผลงานออกมายอดเยี่ยมที่สุด ท่านทำได้อย่างไร?
     ข.เรื่องรายได้ โนรายกเป็นคนวิเศษสุดในเรื่องนี้ ท่านไม่เคยพูด ไม่กำหนด ไม่เคยขอค่าตอบแทน แล้วแต่จะให้ มีอยู่ครั้งหนึ่งโรงเรียน เชิญท่านมารับมอบของขวัญที่หน้าเสาธง ในฐานะผู้สนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียน ท่านกล่าว กับเด็กนักเรียนสั้น ๆ ว่า "ขอฝากกับ ลูก ๆ ทุกคน ขอให้ลูก ๆ ทำความดีเถอะ สักวันหนึ่งความดีก็จะตอบสนอเหมือน กับลุงในวันนี้" เด็กนักเรียนและคณะครู ประทับใจที่สุดต่อคำพูดสั้น ๆ นั้น
     ค.ความหนักแน่น ความมั่นคง ทางอารมณ์ดีมาก
     ง.ถ้าจะศึกษาแบบฉบับโนราแท้ต้องโนรายก ทั้งรูปแบบ การแต่งตัว การรำ เรื่องที่ใช้แสดงก็แบบเก่า ดนตรีก็แบบเก่า แม้คนไม่ดู เพื่อศักดิ์ศรีของมโนราห์ ท่านไม่ยอมเปลี่ยนแปลงให้เสียรูปแบบเลย
    ๒.นายสุนทร นาคประดิษฐ์ เลานุการคณะแพทย์หัวหน้าคณะมโนราห์ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ ได้เห็นการสสั่งสอนของมโนราห์ยก ได้สรุปความประทับใจที่มีต่อโนรายกว่า
     ก .การทำบท (ร้องประกอบท่ารำไปพร้อม ๆ กัน) ไม่มีตัวจับ ยอดเยี่ยมที่สุดในภาคใต้ ลีลาการรำดีมาก เก่งจริง ๆ มีความประณีตทุกกระเบียดนิ้ว
     ข.การออกพราน ตัวตลกอื่น ตลกมาก ตลกจริง ๆ
     ค.กลอนสดดีมาก ร้องสด ๆ ร้องได้ทั้งคืน ขณะนี้ภาคใต้คนยอดเยี่ยมอย่างนี้ไม่มี
     ง.เป็นคนดี ศิลปินทั่วไปมักจะเจ้าชู้ แต่โนรายกไม่มี
     จ.ศิลปะการถ่ายทอดเก่งมาก มีหลักการสอนมีความเป็นครูสูง จิตวิทยาดี สมาธิดีมาก ศิลปะการแสดงโนราบางประการ แม้ท่านจะพัฒนาขึ้นบ้าง แต่ไม่เสียเอกลักษณ์ของโนรา รูปแบบเดิมใส่เนื้อหาใหม่ ท่านเป็นคนทันสมัย ไม่แก่
    ๓.ผศ.อุดม หนูทอง จาก มศว. สงขลา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบัน ทักษิณคดีศึกษา ได้กล่าวถึงคุณสมบัติพิเศษของโนรายก ชูบัว ไว้ดังนี้
     ก.กระบวนการรำโนรา ผู้ที่มีความครบเครื่องทุกกระบวน คือ รำก็สวย กลอนก็ดี ตลกก็เก่ง ทันสมัยก็ทันสมัย ต้องโนรายก
     ข.ศิลปะการถ่ายทอดดีเยี่ยม ผิดกับโนราอื่น ๆ ท่านมีวิธีการสอนที่ล้ำเลิศมาก
     ค.ความเป็นมนุษย์มีสูง รู้จักกัน ไม่เคยพูดเรื่องเงิน เรื่องทอง แม้แต่ครั้งเดียว
     ง.ความคิดสร้างสรรค์ดีเยี่ยม ปิ้งคอเดิมไม่มีดูแล้วมันโหว่ ท่านก็คิดออกแบบจนสวยงาม
     จ.เป็นคนไม่เชย ทันสมัยมาก
     ฉ.ไม่ปกปิดความรู้
     ช.เป็นคนรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่เยี่ยมมากอีกประการหนึ่ง
    ผศ.อุดม หนูทอง และ ผอ.ชอบ บุญ ช่วย ได้เล่าวิธีการสอนโนราเพิ่มเติมว่า โนรายกมีวิธีการสอนที่แปลก ท่านี้อย่างนี้ นะลูกนะ ท่านพูดพร้อมขยับมือให้ดู ตั้งวงอย่างไร ขยับซ้ายกี่ก้าว ท่านค่อย ๆ ชี้แนะด้วยคำพูด ไม่แสดงนำเหมือนครูคนอื่น ทุกครั้งที่มาสอน จะต้องมีการทบทวน ของเก่าก่อนทุกครั้งถ้าทำได้จึงจะต่อบทต่อไป (คนที่มาสังเกตการสอนอยู่เป็นประจำยังรำได้) เมื่อฝึกแล้วเวลาท่าน ไปแสดงจะพาเด็กนักเรียนที่ผ่านการฝึก อบรมไปครั้งละ ๕-๑๐ คน มีค่าตอบแทนเป็นขวัญกำลังใจให้เด็กด้วย ชุดการแสดงทุกชุดเป็นฝีมือการประดิษฐ์ของโนรายก ประณีต สวยงามที่สุด เด็กที่ไปแสดงแม้จะ แสดงผิดบ้างท่านไม่เคยว่า แต่ท่านจะพูดว่า ไม่เคยมาซ้อม จึงจาดความมั่นใจ เด็กนักเรียนคนหนึ่งในจำนวน ๒๐ คน ที่โนรายกฝึกอบรมไว้ มีพรสวรรค์พิเศษมาก คือ ด.ญ.อริสรา มุสิกพงษ์ อายุ ๑๑ ขวบ เก่งมาก ทั้งบท ทั้งท่ารำ วันหนึ่งให้ท่องเนื้อ ๒-๓ หน้ากระดาษ สามารถจดจำได้หมด ท่ารำ บทร้อง แน่นมาก ถ้าสนับสนุนให้ดีเด็กคนนี้จะเป็นอัจฉริยะคนหนึ่งในวงการ โนราภาคใต้ในอนาคต
     จากประวัติชีวิตและผลงานของ โนรายก ชูบัว ที่กล่าวมา ผสมผสานกับทัศนะของผู้ใกล้ชิด ๓ ท่าน จะเห็นว่า โนรา ยกเป็นคนที่มีความรุ้ เป็นคนดีมี คุณธรรมมรความสามารถอย่างยิ่งสมควรที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จะประกาศยกย่องท่านเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) พุทธศักราช ๒๕๓๐

ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


อนุรักษ์มรดกใต้ : moradokthai@hotmail.com : โทร.081-8544472

Power by www.Muanglung.com เมืองลุงดอทคอม