โนราเติม
ชื่อนายเติม อ๋องเซ่ง เกิดปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ที่ตำบลเขาวิเศษ อำเภอวังวิเศษจังหวัดตรัง
เป็นบุตรของนายตั้ง นางอบ อ๋องเซ่ง สัญชาติไทย เชื้อชาติจีน
การศึกษา
สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ ๖ จากโรงเรียนวิเชียรมาตุ
จังหวัดตรัง แล้วไปเรียนจบมัธยมปีที่ ๘ ที่โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง จังหวัดยะลา
การงาน
อายุได้ ๑๘ ปี นายเติม อ๋องเซ่ง รับราชการเป็นเสมียนที่อำเภอสิเกา
จังหวัดตรัง ต่อมาจึงลาออกมาเป็นศิลปินเล่นโนรา เนื่องจากปู่และบิดาของนายเติม
เป็นตระกูลโนราสืบทอดกันมา
การรำโนรา
นายเติมฝึกการรำโนราจากบิดามาตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ
ฝึกท่ารำและฝึกว่ากลอนต่าง ๆ เมื่ออายุ ๑๓ ปี จึงได้รำโนราเป็นครั้งแรกในงานแก้บนของขุนสุตรสุทธินนท์
นายอำเภอเมืองตรัง ต่อจากนั้นหากมีเวลาว่างก็จะช่วยรำโนราในคณะของครอบครัวเป็นครั้งคราว
จนกระทั่งมีการประชันกับโนราที่มีชื่อเสียงคณะหนึ่ง โนราตุ้งซึ่งเป็นโนราครอบครัวของนายเติมเป็นฝ่ายแพ้
นายเติมเสียใจมาก จึงตั้งคณะโนราเติมขึ้นเพื่อกู้หน้า นายเติมจึงลาออกจากราชการมาเล่นโนรา
ชีวิตครอบครัว
โนราเติมเป็นคนพูดเก่งและเจ้าชู้ ไปแสดงที่ไหนมักจะได้ภรรยาที่นั่น
จนมีภรรยาถึง ๕๔ คน ภรรยาคนที่ ๕๓ และ ๕๔ คือหนูวินกับหนูวาด โนราเติมสุขภาพไม่แข็งแรงเพราะดื่มสุรา
ในที่สุดได้แก่กรรมด้วยโรคไตวาย ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ เมื่ออายุได้ ๕๗ ปี
ผลงาน
๑. เป็นโนราที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วภาคใต้ สมกับคำที่กล่าวกันว่า "มาแต่ตรังไม่หนังก็โนรา"
โนราเติม ได้ประชันกับคณะโนราที่มีชื่อเสียงหลายคณะ เช่น โนราลอย โนราพิณ-พัน
โนรายก ชูบัว มักจะชนะและได้รับรางวัลมากมาย ทั้งถ้วยรางวัล และขันน้ำพานรอง
โดยเฉพาะการประชันโรงโนราทั่วภาคใต้ซึ่งจังหวัดตรังจัดให้มีการแข่งขัน
๕๐ โรง โนราเติมชนะเลิศ ได้รับถ้วยรางวัลเกียรติยศ มีชื่อเสียงมากยิ่งขึ้น
จนไม่มีคณะโนราใดกล้าประชันโรงด้วย
๒. การพัฒนาโนราแบบใหม่ เพื่อไม่ได้คนดูเสื่อมความนิยมโนรา เพราะคู่แข่งของโนรา
คือภาพยนต์และหนังตะลุง เมื่อผู้ชมหันไปชมภาพยนต์ โนราเติมจึงพัฒนาโนราของตน
๓ ลักษณะ
๒.๑ การเน้นด้านบทกลอนที่เป็นกลอนสด มากกว่าการร่ายรำแบบโบราณ เนื่องจากโนราเติมรำไม่เด่น
แต่เด่นในเรื่องว่ากลอนสด เป็นที่ยอมรับกันว่าไม่มีใครเทียบ การมีพรสวรรค์ด้านนี้ทำให้โนราเติมประสบความสำเร็จสูง
๒.๒ เปลี่ยนแปลงการแต่งกายโนราแบบโบราณ ซึ่งใช้เครื่องลูกปัดเทริด หางหงส์
มาใช้ชุดสากลแทน เป็นผลให้คณะโนราอื่น ๆ เอาอย่าง ทำให้โนราเติมถูกวิจารณ์ว่าเป็นผู้ทำลายเอกลักษณ์ดั้งเดิมของโนรา
ซึ่งเรื่องนี้โนราเติมได้ชี้แจงว่า เพื่อสนองความต้องการของผู้ชม และอิทธิพลของภาพยนตร์
วิทยุโทรทัศน์ และอุปกรณ์สมัยใหม่หาได้ง่าย เป็นเหตุให้โนราเติมคิดเปลี่ยนแปลง
๒.๓ นำเอานวนิยายมาดัดแปลง เพื่อประกอบการแสดงโนรา เรื่องที่ทำให้โนราเติมมีชื่อเรื่อง
ได้แก่ น้ำตาสาวจัน พรหมบงการ มหาดเล็กผู้ซื่อสัตย์ ตายครั้งเดียว
๓. การเผยแพร่ศิลปะการแสดงโนราทั้งในและต่างประเทศ โนราเติมแสดงโนราทั้ง
๑๔ จังหวัดในภาคใต้ และกรุงเทพฯ หลายครั้ง มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุทั่วประเทศ
และยังเคยไปแสดงที่ประเทศมาเลเซีย
นับได้ว่าโนราเติมเป็นโนราที่ทำให้การแสดงโนรา
เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป บุตรหลานต่างมีความภูมิใจในโนราเติมมาก จึงจัดที่บูชาไว้หน้ารูปถ่าย
และบูชาเป็นประจำเมื่อประสบความสมหวังก็จะมีปิดทองบนกรอบรูปเสมอ จนเกือบมองไม่เห็นภาพถ่าย
ข้อมูล
: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ