ประวัติขุนอุปถัมภ์นรากร (พุ่ม เทวา)
อนุรักษ์มรดกใต้       ชมรมอนุรักษ์มรดกใต้     มรดกใต้ทีวี

    ขุนอุปภัมภ์นรากร (พุ่ม) เกิดวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ เวลา ๑๑ นาฬิกา ปีเถาะ พ.ศ.๒๔๓๔ เป็นบุตร นายเงิน นางชุม ช่วยพูลเงิน เกิด ณ บ้านเกาะม่วง หมู่ที่ ๒ ตำบลดอนทราย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เมื่ออายุได้ ๗ ปี บิดาก็ถึงแก่กรรม มารดาก็ย้ายมาอยู่บ้านชายคลอง ตำบลชะมวง อำเภอเดียวกัน เมื่ออายุได้ ๑๑ ปี มารดาได้นำไปฝากให้เข้าเรียนในสำนักท่านพระครูกาเดิม (หนู) ณ วัดวิหารเบิก ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง เพื่อศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย อยู่ที่นั่นไม่นาน พระครูกาเดิม (หนู) ไปกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าต้องกลับมาอยู่บ้านเดิม
ต่อมาได้มีผู้มาชักนำให้ข้าพเจ้าลงไปทางขับร้อง ฟ้อนรำ ได้อุตส่าห์ฝึกฝนพากเพียรเรียนวิชาการรำโนรา กับนายชุม ที่ตำบลป่าพะยอมอยู่ประมาณ ๒ ปี ยังหาความชำนาญไม่ได้ก็ไปเล่าเรียนเพิ่มเติมกับนายลูกโก ซึ่งเป็นโนราอยู่บ้านไม้เสียบ ตำบลท่าประจะ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียนวิชานี้อยู่ประมาณ ๘ ปี ก็สำเร็จวิชาทางรำโนรา บริบูรณ์ดี ข้าพเจ้าก็กลับมาอยู่บ้านตามเดิม
     เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี ได้เข้าถวายตัวเป็นอันเตวาสิกกับท่านพระครูกาชาติ (แก้ว) ณ วัดพิกุลทอง ศึกษาเล่าเรียนทางฝ่ายพระศาสนา และได้อุปสมบทที่วัดพิกุลทอง โดยมีท่านพระครูกาเดิม (หนู) เป็นอุปัชฌาย์ เมื่ออุปสมบทแล้วได้พยายามปฎิบัติธรรมในพระศาสนาตามพระวินัยแห่งพุทธบัญญัติตามกำลังของข้าพเจ้าที่จะปฎิบัติได้ ต่อจากนั้นได้ลาออกจากเพศบรรพชิตมาอยู่อาศัยกับนางพลับผู้เป็นพี่ของข้าพเจ้า (พี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกัน ๒ คนคือ พี่พลับกับข้าพเจ้า) นิสัยของข้าพเจ้าชอบปรึกษาหารือกับสมณะชีพราหมณ์อยู่เสมอ ถึงแม้จะลาสิกขาบทแล้วก็จริง แต่ก็ยังถวายตัวเป็นศิษย์ ของท่านพระครูกาชาติ (แก้ว) อยู่นั่นเอง ท่านยังได้อบรมคุณงามความดีชี้ข้อผิดถูกอยู่เสมอมิขาดได้ พระเดชพระคุณของท่านนับว่ามีอุปการะต่อข้าพเจ้ามากที่สุด ข้าพเจ้าจึงระลึกถึงท่านอยู่ทุกเวลา แม้ว่าท่านจะล่วงลับมรณภาพไปสู่สุคติแล้วก็จริง ข้าพเจ้ายังมีความกตัญญูกตเวทีอยู่ทุกเมื่อ เมื่อข้าพเจ้ามีอายุได้ ๒๘ ปี ได้แต่งงานกับนางแหม้ว และได้ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน อาชีพของข้าพเจ้าคือ ทำนา ดำเนินการไปตามชอบธรรม อยู่เป็นสุขตลอดมา
    พ.ศ.๒๔๖๘ ข้าพเจ้าอายุได้ ๓๕ ปี ในระหว่างนั้นกำนันตำบลชะมวง ว่างลง โดยเหตุที่กำนันพุ่ม นาคะวิโรจน์ ลาออก รองอำมาตย์โทขุนเทพภัคดี นายอำเภอควนขนุน จึงเรียกประชุมผู้ใหญ่บ้านทุกนายเพื่อเลือกกำนัน ที่ประชุมลงความเห็นชอบเลือกข้าพเจ้าเป็นกำนันตำบลชะมวง ข้าพเจ้ารับหน้าที่ราชการ ได้พยายามปฎิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตธรรม มีพรหมวิหาร ๔ เป็นที่ตั้ง เพื่อผดุงไว้ซึ่งชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันที่ข้าพเจ้าเคารพเทิดทูนเป็นที่สุด
    พ.ศ.๒๔๗๕ เมื่อข้าพเจ้ารับราชการมาได้ ๖ ปี ก็ได้รับแต่งตั้งจากเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็น " ขุนอุปถัมภ์นรากร "
    พ.ศ.๒๔๗๕ ข้าพเจ้าได้รับพระราชทานเหรียญพระพุทธยอดฟ้า พระปกเกล้าฯ เนื่องในงานเฉลิมฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี
    พ.ศ.๒๔๗๗ ราษฎรในตำบลชะมวงเลือกข้าพเจ้าเป็นผู้แทนตำบลชะมวงไปรับพระราชทานเข็ม เรียกว่า "เข็มผู้แทนตำบล "
    พ.ศ.๒๔๗๘ รัฐบาลได้มอบเงินรางวัลจำนวน ๑๐๐ บาท เป็นรางวัลที่ ๑ สำหรับกำนันในจังหวัดพัทลุง เพื่อตอบแทนความดีความชอบที่ทำงานตรงหน้าที่ ซื่อสัตย์ สุจริต พร้อมมอบประกาศนียบัตร 1 ฉบับเป็นหลักฐานแห่งความดี
    พ.ศ.๒๔๘๐ ข้าพเจ้าได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการอำเภอควนขนุนว่า ควรจะตัดถนนจากตำบลชะมวง ไปติดต่อกับตำบลป่าพะยอม ต่อกับถนนสายควนขนุน ทางอำเภอเห็นดีด้วย จึงได้ชักนำให้ข้าพเจ้านำราษฎรมาช่วยกันทำถนนจากตำบลชะมวง ไปตำบลป่าพะยอม มีเจ้าของที่ดินบางคนขัดข้อง ข้าพเจ้าจึงได้ไปขอความช่วยเหลือจากท่านพระครูกัลยาฯ เจ้าคณะแขวงอำเภอควนขนุน และท่านพระครูศิริรัตโนภาส เจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง ได้ช่วยพูดคุยกับเจ้าของที่ดิน บางคนก็ได้ตกลง การทำถนนจึงดำเนินไปได้ตามความประสงค์โดยได้พูนดินเป็นตัวถนนบ้าง และได้ตัดทางไปติดต่อกับตำบลป่าพะยอม ได้สำเร็จ
   พ.ศ.๒๔๘๑ ทางราชการได้จัด ให้นำข้าวพื้นเมืองไปประกวดในงานปีใหม่ ณ จังหวัดพัทลุง ข้าพเจ้าได้นำข้าวในครัวเรือนไปประกวด คือ " ข้าวนางงาม " ในการประกวดนั้นได้รับรางวัลที่ ๑ ได้รับรางวัล ไถเกษตร ๑ เครื่อง กับเงิน ๑๕ บาท
    พ.ศ.๒๔๘๕ ข้าพเจ้าได้ลาออกจากตำแหน่งกำนัน รวมเวลาอยู่ในตำแหน่งนี้ ๒๐ ปี ออกไปประกอบอาชีพทำนา ค้าขายและทำสวน ในระหว่างนี้ได้ซื้อช้างไปขายที่จังหวัดยะลา และไปซื้อช้างที่จังหวัดชุมพรและระนองมาใช้งานลากไม้ ได้ทำงานนี้อยู่ ๑๐ ปี ในปีนี้ข้าพเจ้าได้มอบที่ดิน ๑ แปลงยาว ๑ เส้น กว้าง ๑๐ วา ให้แก่วัดพิกุลทองเพื่อเป็นสมบัติของสงฆ์
    พ.ศ.๒๔๙๘ ได้รับการคัดเลือกจากอำเภอให้เป็นคนขยันของชาติ ในตำบลชะมวง ได้รับรางวัลแหวน ๑ วง เป็นตัวเงินเรือนทอง จารึกอักษรไว้ที่หัวแหวนว่า "เป็นคนขยันของชาติ" และได้รับบัตรประจำตัวลดค่าโดยสารรถไฟครึ่งราคา
    พ.ศ.๒๔๙๙ ข้าพเจ้าได้ไปถวายตัวกับท่านเจ้าคุณพุทธิธรรมธาดา เข้าวิปัสสนากรรมฐาน ณ วัดสุวรรณวิชัย รู้สึกว่าได้รับผลอย่างดี เป็นที่ปลื้มใจอย่างยิ่ง
    พ.ศ.๒๕๐๐ ท่านพระครูสิริรัตโนภาส ได้จัดทำสะพานข้ามคลองเข้าวัด ได้นำเงินส่วนตัวถวาย ๑,๐๐๐ บาท เพราะถือว่าเป็นบุญจริงๆ พร้อมกับช่วยขอจากผู้มีจิตศรัทธา ๔,๐๐๐ บาท ลูกศิษย์เก่ามารำโนรา ๒ ครั้งได้เงิน ๑๐,๐๐๐ บาทเศษ ได้นำถวายท่านพระครูศิริรัตโนภาส เจ้าอาวาสวัดพิกุลทองเพื่อสมทบทุนทำสะพานและพระอุโบสถ ในโอกาสนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร บริจาคเพื่อสร้างประตูเหล็กพระอุโบสถเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท

ระยะการรำโนรา
    เมื่อเรียนวิชารำโนราแล้วก็เที่ยวรำโนรา จนมีชื่อเสียงมากเป็นที่ชอบใจพอใจของผู้ดูผู้ชม ประชาชนได้ตั้งชื่อให้ว่า "โนราพุ่มเทวา" คือรำเหมือนเทวดาลงมาจากสวรรค์ ข้าพเจ้ามาหยุดรำโนรา เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ เพราะงานในตำแหน่งกำนันมีมากไม่มีเวลา จากนั้นก็ได้รำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ เมื่อคราวพระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรจังหวัดพัทลุง
    พ.ศ.๒๕๐๗ อาจารย์ใหญ๋โรงเรียนสตรีฝึกหัดครูสงขลา (สมบุญ ศรียาภัย) ได้ให้อาจารย์ภิญโญ จิตต์ธรรม มาขอร้องให้ไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนรำโนราให้นักเรียน ข้าพเจ้าก็ไปให้ตามความประสงค์ และได้สอนจนถึงปัจจุบัน (วิทยาลัยครูสงขลา)
    พ.ศ.๒๕๑๓ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร สั่งให้หลวงคเชนทรามาตย์นำข้าพเจ้าไปรำถวายที่โรงเรียนนาฏศิลป์ รำออกโทรทัศน์ช่อง ๔ และ รำเพื่อทำภาพยนต์ที่หนองแขม
    พ.ศ.๒๕๑๔ ผู้อำนวยการวิทยาลัยครูสงขลา (สมบุญ ศรียาภัย) ได้นำข้าพเจ้าไปรำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และคณะโขนธรรมศาสตร์ดู ณ โรงแรมสมิหลา สงขลา

รำถวายหน้าพระที่นั่ง ๕ ครั้ง
๑.พ.ศ.๒๔๕๘ รำถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ณ พลับพลานาวง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
๒.พ.ศ.๒๔๕๘ รำถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ณ หน้าวังสมเด็จฯ สงขลา
๓.พ.ศ.๒๔๗๖ รำถวายสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เสด็จแทนพระองค์ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ณ ภัตตาคารลำปำ จังหวัดพัทลุง ได้รับพระราชทานรางวัลเป็นเงิน ๕๐๐ บาท
๔.พ.ศ.๒๕๐๒ รำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ณ หน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง ได้รับพระราชทานเหรียญที่ระลึก ๑ เหรียญ
๕.พ.ศ.๒๕๑๔ รำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ได้รับพระราชทานเหรียญ ภ.ป.ร. ในการรำครั้งนี้ข้าพเจ้าและคณะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด

ได้รับยกย่องและเชิดชูเกียรติ
   จากคุณความดีที่ข้าพเจ้าได้ปฎิบัติมาแต่ต้น นักข่าวหนังสือพิมพ์วารสาร โทรทัศน์ช่อง ๑๐ หาดใหญ่ ได้นำประวัติของข้าพเจ้าไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว โดยยกย่องว่าเป็น "คนดีชาวใต้"
   นอกจากหนังสือพิมพ์ดังกล่าวยังมีหนังสือพิมพ์อื่นๆ เช่น สยามรัฐรายวัน วารสารศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ

ได้รับเชิดชูเกียรติ
    เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ ๙๐ ปี สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติพร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา วิทยาลัยครูสงขลา มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ สงขลา วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราข ได้ร่วมกันพิจารณาเห็นว่า "ขุนอุปถัมภ์นรากร" เป็นบุคคลที่สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินภาคใต้ในการำโนรา ได้ฝึกลูกศิษย์ไว้มากมาย เป็นการรักษาศิลปะการรำประจำภาคใต้ไว้มิให้สูญหาย ประกอบกับขุนอุปถัมภ์นรากร เป็นบุคคลที่มีคุณธรรม ไม่ยุ่งกับอบายมุขมีผลงานดีเด่น จึงมีมติให้จัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินประจำภาคใต้ แก่ ขุนอุปถัมภ์นรากร ที่จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๓ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน

ได้รับพระราชทานปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์
   เมื่ออายุได้ ๙๓ ปี วิทยาลัยครูสงขลาเสนอขอให้สภาการฝึกหัดครู พิจารณาให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่ขุนอุปถัมภ์นรากร ซึ่งเป็นผู้มีผลงานยอดเยี่ยมควรเชิดชูเกียรติในฐานะเป็นศิลปินยอดเยี่ยมของภาคใต้ เป็นบุคคลที่มีคุณธรรมสูง มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นบุคคลที่บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป สมควรแก่การยกย่องและเป็นบุคคลที่มีผลงานทางวิชาการดีเด่น ในสาขาวิชาที่เปิดสอนในวิทยาลัยครู และผลงานทางวิชาการนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งแก่บุคคลที่อยู่ในวงการศึกษา สภาการฝึกหัดครูอนุมัติปริญญาดังกล่าว ได้รับพระราชทานปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นบุคคลแรกจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ณ สวนอัมพร ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๒๖
   หลังจากได้รับพระราชทานปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์แล้ว ก็ได้ล้มป่วยด้วยความชรา ประมาณ ๔ เดือน ก็ถึงแก่กรรมด้วยความสงบ ในวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๖ ณ บ้านพักบ้านหัวถนน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง


จากหนังสือ ประวัติโนรา โดย อ.ภิญโญ จิตธรรม อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ขุนอุปถัมภ์นรากร ๒๗ กันยายน ๒๕๒๗


อนุรักษ์มรดกใต้ : moradokthai@hotmail.com : โทร.081-8544472

Power by www.Muanglung.com เมืองลุงดอทคอม