องค์ประกอบการแสดง
อนุรักษ์มรดกใต้       ชมรมอนุรักษ์มรดกใต้     มรดกใต้ทีวี

    องค์ประกอบหลักของการแสดงโนราซึ่งเป็นการแสดงเพื่อให้ความบันเทิงโดยตรงมีดังนี้
๑.การรำ โนราแต่ละตัวต้องรำอวดความชำนาญและความสามารถเฉพาะตน โดยการรำผสมท่าต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างต่อเนื่องกลมกลืน แต่ละท่ามีความถูกต้องตามแบบฉบับ มีความคล่องแคล่วชำนาญที่จะเปลี่ยนลีลาให้เข้ากับจังหวะดนตรี และต้องรำให้สวยงามอ่อนช้อยหรือกระฉับกระเฉงเหมาะแก่กรณี บางคนอาจอวดความสามารถในเชิงรำเฉพาะด้าน เช่น การเล่นแขน การทำให้ตัวอ่อน การรำท่าพลิกแพลง เป็นต้น
๒.การร้อง โนราแต่ละตัวจะต้องอวดลีลาการร้องขับบทกลอนในลักษณะต่างๆ เช่น เสียงไพเราะดังชัดเจน จังหวะการร้องขับถูกต้องเร้าใจ มีปฏิภาณในการคิดกลอนรวดเร็ว ได้เนื้อหาดี สัมผัสดี มีความสามารถในการร้องโต้ตอบ แก้คำอย่างฉับพลันและคมคาย เป็นต้น
๓.การทำบท เป็นการอวดความสามารถในการตีความหมายของบทร้องเป็นท่ารำ ให้คำร้องและท่ารำสัมพันธ์กันต้องตีท่าให้พิสดารหลากหลายและครบถ้วน ตามคำร้องทุกถ้อยคำต้องขับบทร้องและตีท่ารำให้ประสมกลมกลืนกับจังหวะและลีลาของดนตรีอย่างเหมาะเหม็ง การทำบทจึงเป็นศิลปะสุดยอดของโนรา
๔.การรำเฉพาะอย่าง นอกจากโนราแต่ละคนจะต้องมีความสามารถในการรำ การร้อง และการทำบทดังกล่าวแล้วยังต้องฝึกการำเฉพาะอย่างให้เกิดความชำนาญเป็นพิเศษด้วยซึ่งการรำเฉพาะอย่างนี้ อาจใช้แสดงเฉพาะโอกาส เช่น รำในพิธีไหว้ครู หรือพิธีแต่งพอกผู้กผ้าใหญ่ บางอย่างใช้รำเฉพาะเมื่อมีการประชันโรง บางอย่างใช้ในโอกาสรำลงครูหรือโรงครู หรือรำแก้บน เป็นต้น การรำเฉพาะอย่าง มีดังนี้
    ๔.๑ รำบทครูสอน
    ๔.๒ รำบทปฐม
    ๔.๓ รำเพลงทับเพลงโทน
    ๔.๔ รำเพลงปี่
    ๔.๕ รำเพลงโค
    ๔.๖ รำขอเทริด
    ๔.๗ รำเฆี่ยนพรายและเหยียบลูกนาว (เหยียบมะนาว)
    ๔.๘ รำแทงเข้
    ๔.๙ รำคล้องหงส์
    ๔.๑๐ รำบทสิบสองหรือรำสิบสองบท
๕.การเล่นเป็นเรื่อง โดยปกติโนราไม่เน้นการเล่นเป็นเรื่อง แต่ถ้ามีเวลาแสดงมากพอหลังจากการอวดการรำการร้องและการทำลทแล้ว อาจแถมการเล่นเป็นเรื่องให้ดู เพื่อความสนุกสนาน โดยเลือกเรื่องที่รู้ดีกันแล้วบางตอนมาแสดงเลือกเอาแต่ตอนที่ต้องใช้ตัวแสดงน้อย ๆ (๒-๓ คน) ไม่เน้นที่การแต่งตัวตามเรื่อง มักแต่งตามที่แต่งรำอยู่แล้ว แล้วสมมติเอาว่าใครเป็นใคร แต่จะเน้นการตลกและการขับบทกลอนแบบโนราให้ได้เนื้อหาตามท้องเรื่อง

    การแสดงโนราที่เป็นงานบันเทิงทั่วๆ ไป แต่ละครั้งแต่ละคณะจะมีลำดับการแสดงที่เป็นขนบนิยม ดังนี้
๑.ตั้งเครื่อง (ประโคมดนตรีเพื่อขอที่ขอทาง เมื่อเข้าโรงแสดงเรียบร้อยแล้ว)
ลูกคู่กำลังบรรเลงดนตรีของโนรา
๒.โหมโรง
๓.กาศครู หรือ เชิญครู (ขับร้องบทไหว้ครู กล่าวถึง ประวัติความเป็นมาของโนรา สดุดีต้นและผู้มีพระคุณทั้งปวง)
๔.ปล่อยตัวนางรำออกรำ (อาจมี ๒-๕ คน) แต่ละตัวจะมีขั้นตอน ดังนี้
    ๔.๑ เกี้ยวม่าน หรือขับหน้าม่าน คือการขับร้องบทกลอนอยู่ในม่านกั้นโดยไม่ให้เห็นตัว แต่จะใช้มือดันม่านตรงทางแหวกออกเพื่อเร้าใจให้ผู้ชมสนใจและเป็นสัญญาณว่าตัวแสดงกำลังจะออกรำ โดยปกติตัวที่จะออกรำเป็นผู้ร้องขับบทเกี้ยวม่านเอง แต่บางครั้งอาจใช้คนอื่นร้องขับแทน บทที่ร้องมักบรรยายอารมณ์ ความรู้สึกของหญิงวัยกำดัด หรือชมธรรมชาติ หรือกล่าวถึงคติโลก คติธรรม
    ๔.๒ ออกร่ายรำแสดงความชำนาญและความสามารถในเชิงรำเฉพาะตัว
    ๔.๓ นั่งพนัก ว่าบทร่ายแตระ แล้วทำบท (ร้องบทและตีท่ารำตามบทนั้นๆ) "สีโต ผันหน้า" ถ้าเป็นคนรำคนที่ ๒ หรือ ๓ อาจเรียกตัวอื่นๆ มาร่วมทำบทเป็น ๒ หรือ ๓ คนก็ได้ หรืออาจทำบทธรรมชาติ ชมปูชนียสถาน ฯลฯ เพลงที่นิยมใช้ประกอบการทำบททำนองหนึ่ง คือ เพลงทับเพลงโทน
    ๔.๔ ว่ากลอน เป็นการแสดงความสามารถเชิงบทกลอน (ไม่เน้นการรำ) ถ้าว่ากลอนที่แต่งไว้ก่อนเรียกว่า "ว่าคำพรัด" ถ้าเป็นผู้มีปฏิญาณมักว่ากลอนสดเรียกว่า "ว่ามุดโต" โดยว่าเกี่ยวกับบุคคล สถานที่ เหตุการณ์เฉพาะหน้า การว่ากลอนสดอาจว่าคนเดียวหรือว่า ๒-๓ คนสลับวรรค สลับคำกลอนกันโดยฉับพลัน เรียกการร้องโต้ตอบกันว่า "โยนกลอน" โนรากำลังขับบท
    ๔.๕ รำอวดมืออีกครั้งแล้วเข้าโรง
๕.ออกพราน คือ ออกตัวตลก มีการแสดงท่าเดินพราน นาดพราน ขับบทพราน พูดตลก เกริ่นให้คอยชมนายโรง แล้วเข้าโรง "พราน"ตัวตลกของโนราผู้มีความสำคัญ ในการสร้างบรรยากาศให้ครึกครี้น
๖.ออกตัวนายโรง หรือ โนราใหญ่ นายโรงจะอวดท่ารำและการขับบทกลอนเป็นพิเศษให้สมแก่ฐานะที่เป็นนายโรง
ในกรณีที่เป็นการแสดงประชันโรง โนราใหญ่จะทำพิธีเฆี่ยนพราย และเหยียบลูกนาว เพื่อเป็นการตัดไม้ข่มนานคู่ต่อสู้ และเป็นกำลังใจแก่ผู้ร่วมคณะของตน
๗.ออกพรานอีกครั้ง เพื่อบอกว่าต่อไปจะเล่นเป็นเรื่องและจะเล่นเรื่องอะไร
๘.เล่นเป็นเรื่อง

เรื่องที่นิยมแสดง
    ได้กล่าวแล้วว่าโนราไม่นิยมที่จะเล่นเป็นเรื่อง คงเล่นเป็นของแถมเมื่อมีเวลามากพอ เรื่องที่นำมาเล่นจึงมักใช้เรื่องที่รู้กันดีอยู่แล้ว ระยะแรกๆ พบว่าเรื่องที่นิยมแสดงมี ๒ เรื่อง คือเรื่องพระรถและเรื่องพระสุธน ต่อมาได้เพิ่มเป็น ๑๒ เรื่อง เรื่องที่เพิ่ม เช่น สังข์ทอง สินนุราช ไกรทอง เป็นต้น
    ปัจจุบันโนราบางคณะนำเอานวนิยายสมัยใหม่มาแสดงเน้นการเดินเรื่องแบบละครพูดจนแทบจะไม่มีการรำและการร้องบท บางคณะมีการจัดฉาก เปลี่ยนฉากใช้แสงสีประกอบจนแทบจะไม่หลงเหลือเอกลักษณ์ของโนราให้เห็น

จากหนังสือ "สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้" สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.๒๕๒๙


อนุรักษ์มรดกใต้ : moradokthai@hotmail.com : โทร.081-8544472

Power by www.Muanglung.com เมืองลุงดอทคอม