ลิเกป่า
อนุรักษ์มรดกใต้       ชมรมอนุรักษ์มรดกใต้     มรดกใต้ทีวี

    ลิเกป่า เป็นศิลปะการละเล่นอีกอย่างหนึ่งของชาวปักษ์ใต้และชาวพัทลุง นอกจากหนังตะลุงและมโนรา แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยได้รับความนิยมจากผู้ดูแล้ว แต่ลิเกป่าในพัทลุงก็ยังพอมีอยู่ ลิเกป่ามีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น " ลิเกรำมะนา " ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่สันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจากเรียกตามชื่อเครื่องดรตรีที่ใช้กลองรำมะนาเป็นหลักในการแสดง บางแห่งเรียก " แขกแดง " บางแห่งเรียก " ลิเกบก " บางแห่งเรียกตัวละครที่ออกมาแสดงว่า " แขกเทศ " ลิเกป่านิยมเล่นกันในจังหวัดกระบี่ พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล และบางพื้นที่ในจังหวัดสุราษฏรธานี
    คำว่า " แขกแดง " ทางปักษ์ใต้หมายถึงแขกอาหรับ แต่ถ้าใช้คำว่า " เทศ " จะหมายถึงแขกอินเดีย ตัวอย่างเช่น เทศบังกลาหลี ( จากเบงกอล ) เทศคุรา เทศขี้หนู ( อินเดียตอนใต้ ) ถ้าใช้คำว่า " แขก " จะหมายถึงแขกมาลายู และแขกชวา ( อินโดนีเซีย, มาเลเซีย )

ความเป็นมาของลิเกป่า
    จากหนังสือนครศรีธรรมราช ได้พูดถึงความเป็นมาของลิเกป่าเอาไว้ว่า " มีผู้กล่าวว่า ลิเกป่าได้แบบอย่างมาจากพวกแขก กล่าวคือคำว่า " ลิเก " มาจากการร้องเพลงเพื่อสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าของพวกแขกเจ้าเซ็นที่เรียกว่า " ดิเกร์ " ซึ่งเป็นภาษาเปอร์เซีย พวกเจ้าเซ็นที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย เคยได้รับพระบรมราชูปถัมภ์มากมาย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา เพราะพวกเจ้าเซ็นมีน้ำเสียงไพเราะ ร้องเพลงเป็นที่นิยมฟังกันทั่วไป ต่อมา นอกจากพวกเจ้าเซ็นแท้ ๆ แล้วที่ร้องเพลงดิเกร์ ก็มีคนไทยเริ่มหัดร้องเพลงดิเกร์กันบ้าง ซึ่งในชั้นแรกก็มีทำนองการใช้ถ้อยคำเหมือนกับเพลงสวดของแขกเจ้าเซ็น แต่เมื่อมีคนไทยนำมาร้องมาก ขึ้น ก็กลายเป็นแบบไทย และคำว่าดิเกร์ก็เพี้ยนมาเป็นลิเก หรือยี่เก แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากพิจารณาถึงเครื่องดนตรีรำมะนาที่ลิเกป่าใช้ประกอบการแสดง ชวนให้เข้าใจว่าลิเกป่าน่าจะมีต้นแบบมาจากมลายู เพราะมลายูมีกลองชนิดหนึ่งเรียกว่า " ระบานา " ซึ่งก็มีสำเนียงคล้ายกับคำว่า " รำมะนา " ของไทยเรา
    ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ตอบคำถามในรายการ " คุยกันเรื่องเก่า ๆ " ที่กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ว่า มุสลิมกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า " เจ้าเซ็น " เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยามาก และกล่าวว่า " ทีนี้คนไทยเรานี้ครับ ไปเห็นพวกเจ้าเซ็นเขาเข้าไปร้องเพลงสวดฟังแล้วไพเราะ และก็สวดถวายเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน คนที่มีบุญวาสนาอื่น ๆ ก็เกิดนึกขึ้นมา เอ๊ะ ! วันเกิดเราหรืองานบ้านเราถ้าไม่มีเจ้าเซ็นมาร้องเพลงดูมันจะเบา ๆ ไป มันไม่ใหญ่ก็เลยไปเที่ยวติดต่อผู้มีอำนาจวาสนาไปพูดเข้า ก็คงเกรงกลัวอำนาจ เขาก็มาร้องเพลงสวดให้ก็เรียกว่าสวด " ดิเกลอ " นี่ละมันกลายเป็นเพลงฮิตขึ้นมา แขกร้องได้ ไทยก็ร้องดี ต่อไปแม้แต่ชาวบ้านธรรมดาอยากจะให้เจ้าเซ็นมาร้องหรือให้พร ก็ไม่ต้องไปตามที่กุฏิเจ้าเซ็นละ หาเอาข้าง ๆ บ้านนี่แหละ ไทยก็ร้องได้ ก็มาร้องเพลงแขกนี่แหละครับ อวยพรเพลงแขก อวยพรแค่นั้นจบแล้วมันก็ไม่สะอกสะใจ มันไม่ได้ดูอะไรกันต่อ ก็เริ่มร้องเพลงไทยนี่แหละ ไปตามเรื่องตามราว ในที่สุดก็เอาเรื่องละครนอกนี่ละมาเล่นและก็ดัดแปลง แต่เพื่อจะให้รู้เป็นยี่เกหรือเป็นดิเกร์นะ ก็ออกแขกก่อนบอกยี่ห้อไว้ เสร็จแล้วก็จับเรื่อง มีแยกอออกเป็นยี่เกบันตน ยี่เกอะไรก็ว่าไปจนถึงยี่เกทรงเครื่องมาจนถึงทุกวันนี้ " ซึ่งจากประเด็นนี้ น่าจะเป็นเรื่องราวความเป็นมาของลิเกทางภาคกลาง แต่มีอยู่อีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเนื้อหาลิเกภาคกลางในช่วงแรก ๆ ที่มีบางอย่างคล้ายกับลิเกป่าของปักษ์ใต้ ตามที่ สุรพล วิรุฬห์รักษ์ แห่งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำมาเขียนไว้ในหนังสือ " ลิเก " โดยคัดมาจากหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพพลตรีพระยาอนุภาพไตรภพ ( จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา ) ซึ่งผู้ถึงแก่กรรมเล่าเอาไว้เองว่า ได้ดูลิเกเมื่อ พ. ศ. 2435 " เท่าที่ข้าพเจ้าเคยเห็นเมื่อเป็นเด็กหลายครั้ง ลิเกเล่นเรื่องเดียว เครื่องพิณพาทย์ราดตะโพนก็ไม่เห็น ใช้แต่รำมะนา 2 - 3 ใบ เรื่องที่ลิเกเล่นจะเรียกว่ากระไร ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบอีก แต่พวกเด็ก ๆ เรียกกันว่าเรื่อง " นางหอยแครง " คือ พอเปิดฉากก็มีแขกเทศแต่งตัวด้วยเครื่องขาวล้วน ๆ แวววาวด้วยดิ้นเลื่อม ถือเทียนออกมาร้องเบิกโรง ให้ศีลให้พรแก่เจ้าของงานและคนดูแล้วก็มีตัวตลกออกมาซักถาม เป็นการเล่นตลกไปในตัว ร้องและเต้นอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมงก็เข้าโรง เขาเรียกลิเกตอนนี้ว่า " ออกแขก " ต่อจากนั้นก็ถึงชุด แขกแดง คือ แต่งตัวด้วยชุดแขกแดงสวยงาม มีบริวารออกมาด้วยหลายคน ล้วนแต่งตัวเป็นแขก กิริยาของตัวนายทำนองเป็นเจ้า คือเป็นรายาหรือสุลต่านอะไรสักอย่างหนึ่งออกมาแสดงพอสมควร ก็สั่งบริวารให้เตรียมเรือไปชมทะเล ในการชมทะเลมีการตีอวน ตอนนี้มีการเล่นตลกขบขันเด็กชอบมาก ในที่สุดหอยแครงตัวใหญ่ก็ติดแห ในหอยมีนางงามเรียกว่า " นางหอยแครง " เมื่อตัวนายเกี้ยวพาราศีนางหอยแครงเป็นที่ตกลงกันแล้วก็แล่นเรือกลับเป็นจบเรื่อง การร้องเพลงตลอดจนการพูดดัดเสียงแปร่งเป็นแขกทั้งหมด " เนื้อหาของลิเกทางภาคกลางที่ใกล้เคียงกับลิเกป่าของปักษ์ใต้ก็คือ การออกแขกถือเทียนมาร้องเบิกโรง แนะนำตัวตัวต่อชม และบอกเรื่องราวที่จะแสดง มีบทเต้นและบทร้องในทำนองแขก แต่ระหว่างลิเกป่ากับลิเกทางภาคกลางนั้นใครจะเกิดก่อน เกิดหลัง หรือถ่ายทอดซึ่งกันและกันอย่างไร ยังหาข้อยุติไม่ได้ เป็นเรื่องที่จะต้องทำการค้นคว้ากันต่อไป

ผู้แสดงลิเกป่าและการแต่งกาย
    ลิเกป่าคณะหนึ่ง ๆ จะมีประมาณ 20 - 25 คน ซึ่งรวมทั้งลูกคู่ด้วย ส่วนตัวละครที่สำคัญ ๆ ก็มี แขกแดง ยาหยี เสนา และเจ้าเมือง ส่วนที่เหลือเป็นตัวละครตามท้องเรื่องของนิยายที่แต่ละคณะจะแสดง
1. แขกแดง จะแต่งตัวนุ่งกางเกงขายาว นุ่งผ้าโสร่ง ( ผ้าถุง ) ทับด้านนอกกางเกงขายาวสูงเหนือเข่า สวมหมวกแขก แต่งแต้มหนวดเคราให้ยาวรกรุงรัง แขวนสร้อยทองสร้อยเงินหลายเส้น
2. ยาหยี แต่งตัวแบบสตรีมุสลิมในภาคใต้ หรือแต่งแบบคนไทยทางฝั่งทะเลตะวันตก ( ฝั่งอันดามัน ) คือใส่เสื้อแขนยาว นุ่งผ้าปาเต๊ะ บางคณะจะมีผ้าสไบคล้องบ่าทั้งสองข้างปล่อยชายผ้าไว้ด้านหน้า
3. เสนา แต่งตัวแบบคนรับใช้ธรรมดา
4. เจ้าเมือง แต่งตัวแบบชุดข้าราชการไทยสมัยก่อน อาจจะเป็นเสื้อราชประแตน นุ่งผ้าม่วง ปัจจุบันนิยมแต่งชุดสากล

เครื่องดนตรี
    มีกลองรำมะนา หรือโทน 2 - 3 ใบ โหม่ง ฉิ่ง ปี่ ซอ

เวทีการแสดง
    ในตอนแรก ๆ ใช้แสดงบนพื้นดิน เช่นเดียวกับมโนราในสมัยก่อน มีฉากกั้น 2 - 3 ชั้นแล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละคณะ แต่มาในระยะหลัง ๆ หากเป็นงานใหญ่ ๆ มีคนดูมาก ๆ เกรงกันว่าคนดูจะมองเห็นการแสดงไม่ทั่วถึงจึงได้มีการปลูกสร้างโรง ยกพื้นโรงแสดงให้สูงขึ้น

โอกาสที่จะแสดง
    โดยมากจะแสดงในงานรื่นเริง เช่น ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน งานประเพณีต่าง ๆ และงานเทศกาลประจำปี นิยมแสดงในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน หากเป็นงานใหญ่และมีคนดูมาก ๆ ก็จะแสดงจนรุ่งสว่าง แต่การแสดงออกแขก ( ตามธรรมเนียมนิยมต้องออกก่อนการแสดงเรื่อง ) ใช้เวลายืดหยุ่นได้ ขึ้นอยู่กับผู้ชม และผู้แสดงจะใช้ไหวพริบปฏิภาณได้ดีเพียงใดว่าคนดูจึงจะไม่เบื่อ เมื่อแสดงออกแขกจบแล้วก็จะแสดงเรื่อง ซึ่งเรื่องที่นิยมแสดงครั้งก่อน ๆ จะนิยมแสดงเรื่องเกี่ยวกับจินตนิยาย เช่น โคบุตร จันทรโครพ ลักษณาวงศ์ แต่ปัจจุบันนิยมแสดงเรื่องที่เป็นนวนิยายสมัยใหม่

เพลงรับ
    เพลงรับก็คือ เพลงที่ลูกคู่ใช้สำหรับร้องรับนั่นเอง กล่าวคือ เมื่อผู้แสดงจบบทร้อง 2 วรรค หรือ 1 บท ลูกคู่จะร้องรับ 1 ครั้ง ตัวอย่าง เช่น ร้องรับเพลงแขก ซายังบังเหอเบซา ซายะนาบุเรซายัง ลูกคู่จะร้องรับว่า ซายังเหอ บุเรซายัง หรือตอนยาหยีแต่งตัว แต่งเสียแต่งเสียแหละน้อง ยาหยีร่วมห้องเทศต้องพาไป ลูกคู่จะร้องรับว่า พาไปเหอ เทศต้องพาไป ตอนยาหยีลา ลาใครลาเสียแหละน้อง ยาหยีร่วมห้องเทศต้องพาไป ลูกคู่ร้องรับ พาไปเหอเทศต้องพาไป ลาเสีย ลาเสียตะน้อง คิ้วต่อคอปล้องบังต้องพาไป ลูกคู่ร้องรับ พาไปเหอ บังต้องพาไป ตอนแขกลา ลาใครลาเสียแหละบัง พี่น้องที่นั่งบังขอลาไป ลูกคู่ร้องรับ ลาไปเหอบังขอลาไป ตอนเสนาลา ลาใครลาเสียเสนา พี่น้องถ้วนหน้าเสนาลาไป ลูกคู่ร้องรับ ลาไปเหอเสนาลาไป

เนื้อเรื่องตอนออกแขกแดง
    เนื้อเรื่องตอนออกแขกแดง จะแสดงเหมือน ๆ กันทุกคณะ คือ จะกล่าวถึงแขกจากเมืองลักกะตา ( น่าจะเป็นกัลกัตตา ) เดินทางทางเรือมาทำการค้าขายตามหัวเมืองชายทะเลทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ( ฝั่งอันดามัน ) แขกผู้นี้ได้ทำการค้าขายไปตามที่ต่าง ๆหลายเมือง จนในที่สุดได้ภรรยาเป็นคนไทยที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ต่อมาแขกคิดถึงบ้านเมืองของตน และเป็นห่วงพ่อแม่ซึ่งแก่ชรามากแล้ว จึงได้เข้าพบเจ้าเมือง ( ผู้ว่าราชการจังหวัด ) โดยได้ขอคนงานให้ติดตามไปด้วย 1 คน เจ้าเมืองก็อนุญาต แขกกลับไปบอกยาหยี ( ภรรยาของแขก ) เพื่อให้เตรียมตัวเดินทางไปด้วยกัน แต่ยาหยีไม่ยอมไปเพราะเป็นห่วงพ่อแม่ และเห็นว่าการเดินทางไปนั้นเป็นระยะทางไกล แขกต้องอ้อนวอน แต่ก็ไม่สำเร็จ จนต้องทั้งขู่ทั้งปลอบยาหยีจึงยอมเดินทางไปด้วย
เมื่อยาหยีจำใจยอมเดินทางไปด้วย แขกก็สั่งให้ยาหยีลาพ่อแม่พี่น้องตลอดถึงผู้ชม คือ ทั้งแขก ยาหยี คนรับใช้ ( เสนา ) ผลัดกันว่าลา ในระหว่างเดินทางแขกกลัวว่ายาหยีจะเบื่อและเหงา แขกจึงได้ชี้ชวนให้ยาหยีชมความงามของธรรมชาติ ชมปลา ชมเกาะ ชมดาว ชมสิ่งต่าง ๆ ที่ได้พบเห็นระหว่างทางจนถึงเมือง ( กัลกัตตา )

ตัวอย่างบทร้อง

ตอนเริ่มเรื่อง ( แขกไปหายาหยีเพื่อชักชวนกลับบ้านเมืองของแขก )
" ………บังทำการค้าต้องเสียภาษี
รายได้คล่องดีบังมีกำไร ( กำไรเหอ บังมีกำไร )
คิดจะคืนหลังยังเมืองลักกะตา
จะต้องนำพายาหยีกลอยใจ ( กลอยใจเหอ ยาหยีกลอยใจ )
อาบังเดินตึงมาถึงหน้าห้อง
ปานฉะนี้นวลน้องยังคงหลับไหล ( หลับไหลเหอ ยังคงหลับไหล )
ออกมาหาพี่เถิดยาหยีดวงใจ
จะนำน้องไปเมืองลักกะตา ( ลักกะตาเหอ ไปเมืองลักกะตา )
ฯ ล ฯ

ตอนยาหยีแต่งตัว
"………นางหยิบแป้งผงมาลงเลขสี่
บ่าวตามนี้รักจี้หลงไหล ( หลงไหลเหอ รักจี้หลงไหล )
หยิบหวีหางมาสางผมทันใด
ดกดำวิไลห้อยลงตามบ่า ( ตามบ่าเหอ ห้อยลงตามบ่า )
แล้วหยิบกระจกขึ้นมายกส่อง
แย้มดูฟันทองของน้องทอตา ( ทอตาเหอ ของน้องทอตา )
นางหยิบสายสร้อยแขวนห้อยหว่างถัน
บังซื้อให้ฉันก่อนวันวิวาห์ ( วิวาห์เหอ ก่อนวันวิวาห์ )
หยิบเอาสายสร้อยเข้ามาสองสาย
สายหนึ่งแขวนซ้ายสายหนึ่งแขวนขวา ( แขวนขวาเหอ สายหนึ่งแขวนขวา )
หยิบเอานาฬิกานางเข้ามาแขวน
ซื้อจากอิงแลนด์เมื่อเดือนธันวา ( ธันวาเหอ เมื่อเดือนธันวา )
นาฬิกาตีเจ็ดแต่งเสร็จไม่ช้า
นางแกวกม่านผ้าออกมาทันใด " ( ทันใดเหอ ออกมาทันใด )
ฯ ล ฯ

ตอนยาหยีลาไปกับแขก
" …… .ยาหยีงามสรรพหยับเข้าในห้อง
ก้มหน้าลงร้องจะจากพี่น้องไป ( น้องไปเหอ จากพี่น้องไป )
ลาสาดลาหมอนลาที่นอนของข้า
ไม่แคล้วแล้วหนาแมงมุมชักใย ( ชักใยเหอ แมงมุมชักใย )
ลาประตูห้องช่องประตูบ้าน
ลาทั้งเรือนชานตลอดทั่วครัวไฟ ( ครัวไฟเหอ ตลอดทั่วครัวไฟ )
ฯ ล ฯ

ตอนเสนาลา
"……… อาบังลาแล้วเสนาลาเล่า
ลาหนุ่มลาสาวลาเฒ่าลาแก่ ( ลาแก่เหอ ลาเฒ่าลาแก่ )
ลาพวกเด็กเด็กเล็กเล็กมากมาก
ลาคนกินหมากนั่งปากยอแย ( ยอแยเหอ นั่งปากยอแย )
ลาแม่ลาพ่อลาหมอตำแย
ลาลูกกล้วยแก่ลาแม่ไก่ฟัก ( ไก่ฟักเหอ ลาแม่ไก่ฟัก
ขอลาเหล็กขูดเคยครูดมะพร้าว
หม้อแกงหม้อข้าวลาครกลาหวัก " ( ลาหวักเหอ ลาครกลาหวัก )
ฯ ล ฯ

    ลิเกป่า หรือ แขกแดง
ในปัจจุบันหาดูได้ยากมากแล้ว มีแต่นับวันจะสูญหายไป และยากแก่การที่จะทำการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ แต่ลิเกป่าก็เป็นศิลปะการละเล่นของปักษ์ใต้ ของชาวพัทลุงที่สะท้อนถึงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนถึงการประกอบอาชีพ การทำการค้าขายในอดีตที่เราติดต่อ ทำการค้ากับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอินเดีย และเปอร์เซีย ลิเกป่าหรือแขกแดง น่าจะเป็นเครื่องยืนยันถึงความเจริญรุ่งเรืองของดินแดนในภาคใต้ในอดีตได้อีกประการหนึ่งมิใช่หรือ.

    หนังสือที่ใช้อ้างอิง
-ทองเบิ้ม บ้านด่าน " ลิเกก็มีเค้ามาจากอิหร่าน ( เปอเซีย ) " ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์ พ. ศ. 2525 หน้าที่ 25 - 39
-วิเชียร ณ นคร และคนอื่น ๆ นครศรีธรรมราช โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ พ. ศ. 2521
-ศิลปวัฒนธรรม จังหวัดพัทลุง ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง ฉบับ พ. ศ. 2526 โรงพิมพ์พัทลุง จ. พัทลุง

เรียบเรียงโดย อ.ชัยยันต์ ศุภกิจ อดีตอาจารย์ โรงเรียนบ้านท่ามิหรำ อ.เมือง จ.พัทลุง


อนุรักษ์มรดกใต้ : moradokthai@hotmail.com : โทร.081-8544472

Power by www.Muanglung.com เมืองลุงดอทคอม