ลิเกฮูลู
อนุรักษ์มรดกใต้       ชมรมอนุรักษ์มรดกใต้     มรดกใต้ทีวี

    ลิเกฮูลู หรือ ดิเกฮูลู มาจากคำว่า ลิเก หรือดิเก และฮูลู ท่านผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่าลิเกหรือ ดิเกมาจากคำว่า ซี เกร์ หมายถึง การอ่านทำนองเสนาะ ส่วนคำว่าฮูลู แปลว่า ใต้หรือทิศใต้ รวมความแล้วหมายถึง การขับบทกลอนเป็นทำนองเสนาะจากทางใต้

    ลิเกฮูลู เป็นการละเล่นพื้นบ้านแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับความนิยมมากของชาวไทยมุสลิม มักจะใช้แสดงในงานมาแกปูโละ งานสุหนัด งานเมาลิด งานฮารีรายอแล้ว คำว่า "ลิเก" หรือ "ดิเกร์" เป็นศัพท์เปอร์เซีย มีความหมาย ๒ ประการ คือ
    ๑. เพลงสวดสรรเสริญพระเจ้า ซึ่งเรียกการสวดดังกล่าวนี้ว่า "ดิเกร์เมาลิด"
    ๒. กลอนเพลงโต้ตอบ นิยมเล่นกันเป็นกลุ่มคณะ เรียกว่า "ลิเกฮูลู" บ้างก็ว่าได้รับแบบอย่างมาจากคนพื้นเมืองเผ่าซาไก เรียกว่า มโนห์ราคนซาไก บ้างก็ว่าเอาแบบอย่างการเล่นลำตัดของไทยผสมเข้าไปด้วย
    การตั้งวงคล้ายกับการตั้งวงลำตัดหรือเพลงฉ่อยของภาคกลาง คณะหนึ่งมีลูกคู่ประมาณ ๑๐ กว่าคน ผู้ร้องเพลงและขับร้องมีประจำคณะอย่างน้อย ๒ - ๓ คน และอาจมีนักร้องภายนอกวงมาสมทบร่วมสนุกอีกก็ได้ กล่าวคือ คนดูคนใดนึกสนุกอยากร่วมวงก็จะได้รับอนุญาตจากคณะลิเกคล้ายๆ กับการเล่นเพลงบอกภาคใต้ เวทีแสดงยกสูงไม่เกิน ๑ เมตร โล่งๆ ไม่มีม่านหรือฉาก ลูกคู่ขึ้นไปนั่งล้อมวงร้องรับและตบมือ โยกตัวเข้ากับจังหวะดนตรี ส่วนผู้ร้อง หรือผู้โต้กลอนจะลุกขึ้นยืนข้างๆ วงลูกคู่ ถ้ากรณีมีการประชันกันแต่ละคณะจะขึ้นนั่งบนเวทีด้วยกัน แต่ล้อมวงแยกกัน การแสดงก็ผลัดกันร้องทีละรอบ ทั้งรุกทั้งรับเป็นที่ครึกครื้นสบอารมณ์ผู้ชม

การแต่งกาย
     แต่เดิมผู้เล่นจะโพกหัว สวมเสื้อคอกลม นุ่งโสร่ง บางครั้งอาจเหน็บขวานทำนองไว้ข่มขวัญคู่ต่อสู้ ต่อมามีการแต่งกายแบบการเล่นสิละ แต่ไม่เหน็บกริชหรือถือกริช อาจเหน็บขวาน ในปัจจุบันมักแต่งกายแบบไทยมุสลิมทั่วไปหรือตามแบบสมัยนิยม

เครื่องดนตรี
    ประกอบด้วย รำมะนา(รือบานา) อย่างน้อย ๒ ใบ ฆ้อง ๑ วง และลูกแซ็ก ๑ - ๒ คู่ อาจมีขลุ่ยเป่าคลอขณะลูกคู่ร้อง และดนตรีบรรเลง ดนตรีจะหยุดเมื่อมีการร้องหรือขับ ทำนองเดียวกับการร้องลำตัดหรือเพลงฉ่อย ท่วงทำนองปัจจุบันมี ๓ จังหวะ คือ สโลว์ แมมโบสเลว์ และจังหวะนาฏศิลป์อินเดีย ซึ่งเนื้อร้องจังหวะใดก็ต้องใช้ร้องกับจังหวะนั้นๆ จะใช้ร้องต่างจังหวะกันไม่ได้

วิธีการเล่น

    วิธีการเล่น เริ่มแสดงดนตรีโหมโรงเพื่อเร้าอารมณ์คนดู สมัยก่อนมีการไหว้ครูในกรณีที่มีการประชันกันระหว่างหมู่บ้าน หรืออาจมีหมอผีของแต่ละฝ่ายปัดรังควานไล่ผีคู่ต่อสู้ก็มี ปัจจุบันสู้กันด้วยศิลปคารมอย่างเดียว เมื่อลูกคู่โหมโรงต้นเสียงจะออกมาร้องทีละคน เริ่มด้วยวัตถุประสงค์ของการแสดง หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่เรื่องราว อาจจะเป็นเหตุการณ์บ้านเมือง หรือความรักของหนุ่มสาว หรือเรื่องตลก ในกรณีที่มีการประชัน หรือบางครั้งก็เป็นเรื่องราวการกระทบกระแทก เสียดสีกัน หรือหยิบปัญหาต่าง ๆ มากล่าวเพื่อให้ผู้ชมชื่นชอบในคารมและปฏิภาณ

โอกาสและเวลาที่เล่น
    แต่เดิมนิยมแสดงในงานพิธีต่าง ๆ เช่น เข้าสุหนัต งานแต่งงาน (มาแกปูโล๊ะ) ปัจจุบันลิเกฮูลูยังแสดงในงานเทศกาลต่าง ๆ ร่วมกับมหรสพอื่น ๆ บางท้องที่ก็แสดงในงานพิธีสำคัญ เช่น พิธีถวายพระพรวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น

คุณค่า แนวคิด สาระ
    การแสดงลิเกฮูลูยังสามารถเผยแพร่รณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจถึงภัยร้ายของยาเสพติด ยาบ้า ปัญหาโรคเอดส์ ความสะอาดและอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนาน

จากหนังสือ การแสดงพื้นบ้านในประเทศไทย โดย เรณู โกศินานนท์


อนุรักษ์มรดกใต้ : moradokthai@hotmail.com : โทร.081-8544472

Power by www.Muanglung.com เมืองลุงดอทคอม